วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ครูยุคใหม่ใช้ Google Apps

บทความเรื่อง 
 ครูยุคใหม่ใช้ Google Apps 

                                  โดย นางนัยนา  ยะตา
                                               รหัส 58207080 
                                               สาขาการบริหารการศึกษา 
                                               มหาวิทยาลัยพะเยา


แน่นอนว่าเราทุกคนมีครู บางคนมีครูเป็นต้นแบบ บางคนมีครูเป็นพ่อแม่พี่น้อง ไม่มีใครไม่รู้จักอาชีพครู และเด็กบางส่วนก็มีความฝันอยากจะเป็นครูด้วย  ทุกวันนี้บทบาทของครูกำลังเปลี่ยนไป ครูยุคเก่า มือซ้ายถือหนังสือ มือขวาถือชอล์ก ยืนหันหลังให้กระดานดำ สายตานักเรียนต่างจับจ้องที่ปากครูและถ้อยคำที่เปล่งออกมา ส่วนครูยุคใหม่ มือซ้ายถือแท็บเลต มือขวาถือรีโมทคอนโทรล นั่งหันหลังให้จอโปรเจคเตอร์ สายตานักเรียนต่างจับจ้องที่จอสีขาวนั้นและที่อยู่เว็บที่ปรากฏขึ้น เชื่อว่าคงมีหลายคนที่กำลังคิดว่า ครูยุคใหม่ดูจะไม่สนใจการสอนเท่าครูยุคเก่า แต่ถ้านี่เป็นการอธิบายเปรียบเทียบบทบาทของครูพบว่า ครูสมัยก่อนอาจมีบทบาทในการถ่ายทอดความรู้ให้กับศิษย์ แต่โลกได้เปลี่ยนไปแล้ว ครูยุคใหม่จึงจำต้องเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้แทน ยิ่งในยุคแห่งโลกาภิวัตน์เช่นนี้ เทคโนโลยีสารสนเทศก้าวหน้าไปมาก หากจะให้ครูสอนแบบเดิมอยู่คงเป็นไปได้ยาก การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์เช่นนี้จึงถือเป็นสิ่งสำคัญ  พนม พงษ์ไพบูลย์ (2543:6) ได้กล่าวไว้ว่า ในโลกยุคใหม่ การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาและเกิดขึ้นได้กับทุกคน ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนของครูจึงควรสอดคล้องกับแนวการปฏิรูปการศึกษา โดยผู้สอนจะต้องเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้อำนวยความสะดวก และลักษณะการสอนจะต้องมีความหลากหลาย สอนให้นักเรียนรู้จักคิด คิดเป็น ทำเป็น มีวิจารณญาณของตนเอง โดยครูจะต้องคอยให้คำชี้แนะ บทบาทของครูในอนาคตคือ การสอนวิธีหาความรู้ในโลกแห่งความรู้อันมากมายที่ไม่อาจสอนได้หมด การส่งเสริมให้เด็กนักเรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ทั้งจากการศึกษาค้นคว้า การคิดวิเคราะห์ ตลอดจนการลงมือทำเพื่อลองผิดลองถูกด้วยตนเอง เหล่านี้แหละที่เรียกว่าเป็นการอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้  
เมื่อครูต้องมีหน้าที่เช่นนี้ บทบาทของครูจึงไม่ใช่การถ่ายทอดแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป และการหน้าที่ของครูคงไม่ใช่การสอน หากแต่ต้องเปลี่ยนวิธีการเรียกใหม่เป็น “การจัดการเรียนรู้” โดยมีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง น่าจะเหมาะสมที่สุด ครั้นจะให้ครูเปลี่ยนบทบาทอย่างเดียวก็คงเป็นไปไม่ได้ นักเรียนจำต้องมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงนั้นด้วย เพราะหากผู้อำนวยความสะดวกทุ่มเทเท่าไร แต่ขาดความร่วมมือจากผู้เรียน การเรียนรู้ย่อมไม่มีวันเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้น การอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้และความร่วมมือกันของทุกคนจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ต้องกระทำควบคู่กันไป อันจะนำไปสู่โลกแห่งการเรียนรู้ยุคใหม่ซึ่งไม่มีที่สิ้นสุด การปรับเปลี่ยนบทบาทของครูคือก้าวแรกแห่งการพัฒนาสู่ครูในยุคศตวรรษที่ 21 เป็นการจัดการเรียนรู้ที่ไปไกลกว่าการได้รับความรู้แบบง่ายๆไปสู่การเน้นพัฒนาทักษะและทัศนคติ  ทักษะการคิด ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะองค์การ ทัศนคติเชิงบวก ความเคารพตนเอง นวัตกรรม ความสร้างสรรค์ ทักษะการสื่อสาร ทักษะและค่านิยมทางเทคโนโลยี ความเชื่อมั่นตนเอง ความยืดหยุ่น การจูงใจตนเอง และความตระหนักในสภาพแวดล้อม และเหนืออื่นใดคือความสามารถใช้ความรู้อย่างสร้างสรรค์ (the ability to handle knowledge effectively in order to use it creatively) ถือเป็นทักษะที่สำคัญจำเป็นสำหรับการเป็นนักเรียนในศตวรรษที่ 21 ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายในการที่จะพัฒนาเรียนเพื่ออนาคตให้นักเรียนมีทักษะ ทัศนคติ ค่านิยม และบุคลิกภาพส่วนบุคคล เพื่อเผชิญกับอนาคตด้วยภาพในทางบวก (optimism) ที่มีทั้งความสำเร็จและมีความสุข ดังนั้น เพื่อให้นักเรียนเป็นนักเรียนในยุคใหม่ ครูจึงต้องมีเทคนิคการสอนที่สามารถเร้าความสนใจแก่นักเรียน โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการสอน อย่างที่นิยมใช้ในปัจจุบัน คือ Google Apps for Education


Google Apps for Education หรือ Google Apps สําหรับการศึกษา คือ ชุดของฟรีอีเมล์จาก Google และเครื่องมือต่าง ๆ เป็นระบบเปิดในการทำงานร่วมกัน เปิดกว้างสำหรับคุณครู นักเรียน นักศึกษา ชั้นเรียนและสมาชิกครอบครัวในโลก ตัวอย่างเครื่องมือที่นิยมใช้รู้จักกันดี เช่น อีเมล์ (E-mail),เอกสาร (Docs), ปฏิทิน (Calendar), และ Group เป็นต้น แต่เครื่องมือเหล่านี้จะใช้สำหรับในการศึกษา เป็นโปรแกรม ที่ Google พัฒนาให้แก่โรงเรียนใช้งาน เพื่อสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีต่อการเรียนการสอนและการนำอินเทอร์เน็ตไปใช้ในเชิงสร้างสรรค์ โดยโปรแกรมประกอบไปด้วย Communication : โปรแกรมสื่อสาร ภายในและภายนอกโรงเรียน Collaboration : โปรแกรมออฟฟิศสำหรับการแชร์และทำงานร่วมกันออนไลน์  Content : โปรแกรมสร้างเว็บไซต์และเนื้อหาออนไลน์  (ที่มา : http://thinkoutloudclub.com/wp- content/uploads/2014/02/google_apps_landscape.png) การใช้  Google Apps for Education มีเทคนิคดังนี้   1.)  Gmail เป็นการให้บริการอีเมล์ของ Google ถูกพัฒนาขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ 2006 ในปัจจุบันได้ใช้ฟรีและมีพื้นที่การใช้งานที่เยอะมาก สามารถทำงานได้ทั้งบนเว็บไซต์ http://gmail.com และบนเครื่อง PC โดยใช้โปรแกรม Mail Client เช่น Outlook,Tunderbird เป็นต้น  โดยทุกโปรแกรมของ Google ต้องมี gmail ในการสมัครใช้ 2.) Google Calendar เป็นโปรแกรม Calendar ออนไลน์ทำงานบนเว็บไซต์โดยผู้ใช้งานสามารถสร้างตารางงาน หรือตารางนัดหมายงานของตัวเองได้  ครูผู้สอนสามารถกำหนดตารางงานของตนเองลงบน Google Calendar เพื่อความสะดวกและง่ายต่อการทำงาน 3.) Google Docs เป็นที่ได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน โดยให้บริการด้านเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ สามารถทำงานร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นระหว่าง อาจารย์กับอาจารย์ หรืออาจารย์กับนักศึกษา สามารถแบ่งปันใช้เอกสารออนไลน์ร่วมกันได้ทุกที่ทุกเวลาและทุกโอกาส มีโปรแกรมตารางคำนวณอิเล็กทรอนิกส์ และโปรแกรมนำเสนอผลงาน การทำงานในระบบ ออนไลน์ที่ไม่ต้องมีการแนบไฟล์ 4.Google Talk เป็นโปรแกรมสำหรับใช้สนทนากันผ่านระบบเครือข่ายอิเทอร์เน็ต เหมือนกับโปรแกรม Yahoo,MSN  ทำให้ครูและนักเรียนใกล้ชิดกันมากขึ้น สามารถปรึกษากันได้อย่างรวดเร็ว 5.Google Site เป็นบริการสร้างหน้าเว็บไซต์ออนไลน์ ผู้ใช้งานสามารถสร้างเว็บไซต์ของตัวเองขึ้นมาใช้งานได้ ซึ่งจะมี Template ต่างๆให้เราได้เลือก การใช้งานก็เหมือนกับการสร้างเว็บบล็อกทั่วๆไป  ครูผู้สอนสามารถใช้ในการสร้างโครงการสอน แผนการสอน สอดแทรก รูปภาพ และวิดิโอ ประกอบการสอนทั้งหมดลงไปในเว็บไซต์นี้ได้ และให้นักเรียนศึกษา สืบค้นความรู้ด้วยตนเอง  6.) Google Plus หรือ Google+ เป็นเว็บเครือข่ายสังคมออนไลน์ของกูเกิล มีลักษณะการใช้งาน คล้ายกับ Facebook สามารถเชื่อมต่อไปยัง Gmail และ YouTube ได้ ขั้นตอนการใช้เทคโนโลยี Google Apps for Education ในการพัฒนานวัตกรรมการการเรียนการสอน Google plus เป็น Social Network คล้ายๆ กับ Facebook เป็นหนึ่งใน Application ที่ google พัฒนาขึ้นมาและสามารถตอบสนองระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนในเรื่องของการมีปฏิสัมพันธระหว่างกัน การพูดคุยโต้ตอบกัน รวมไปถึงการเรียนการสอนทางไกลผ่านเครือข่ายอินเทอรเน็ตได้เป็นอย่างดี จุดเด่นของ google plus ในการจัดการเรียนการสอน คือ มีส่วนสนทนา (Chat) สำหรับการโต้ตอบแบบทันทีทันใด ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน มีส่วนของแฮงค์เอาท์ (Hang out) ใช้สำหรับพูดคุยหรือสนทนา ผ่านภาพและเสียงระหว่างบุคคลที่อยู่ใน กลุ่มหรือแวดวงนั้นๆมีไทม์ไลน์ (Timeline) เป็นส่วนที่แสดงการอัพเดต (Update) ต่างๆของผู้สอนและผู้เรียนทำให้ทราบ ความเคลื่อนไหวต่างๆ ได้ทันท่วงที การจัดการเอกสารต่างๆ เช่น การสร้างเอกสาร การสร้างไฟล์นำเสนอ การสร้างตารางคำนวณ เป็นต้น สามารถทำได้แบบออนไลน์ เผยแพร่ได้ทันที ปัจจุบัน Google Apps for Education มีการพัฒนาก้าวหน้า และมีแอพพลิเคชั่นมากมายหลายชนิด ให้ผู้ใช้ได้ติดตั้งบน Web browser เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งาน รวมถึงการพัฒนาแอพพลิเคชั่น สำหรับ Mobile Phone และ Tablet เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา มีการสื่อสารระหว่างผู้สอนและผู้เรียนได้ตลอดเวลาเช่นกัน
จากที่ได้กล่าวมา พิธาน โพธิ์รอด(http://darkspace0l0.blogspot.com/2012/06/google-apps.html) ได้กล่าวว่า ข้อดีของการใช้บริการ Google Apps นั้นน่าจะอยู่ที่ความสามารถในการทำงานร่วมกับโปรแกรมต่างๆได้อย่างลงตัว เช่นการใช้งาน Gmail ร่วมกับ Google Docs หรือ Google Calendar นอกจากนั้นผู้ใช้งานผู้ใช้งานยังสามารถใช้เครื่องมือต่างๆได้อย่างเต็มที่และยังมีฟังก์ชัน API (Application Programming Interface) ให้เราสร้างโปรแกรมเพื่อใช้ติดต่อกับ Google Apps ได้อีกด้วย ซึ่งโปรแกรมเหล่านี้ส่วนมากจะใช้ฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทำให้เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว นอกจากนี้ แอปพลิเคชั่นการส่งข้อความและการทำงานร่วมกันที่ทำงานแบบเว็บของ Google ไม่จำเป็นต้องใช้ฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ และต้องการการดูแลระบบน้อยที่สุด สร้างเวลาเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย และประหยัดค่าใช้จ่ายสำหรับธุรกิจ มีพื้นที่เก็บข้อมูลมากกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม 50 เท่า  และการเข้าถึงอีเมล ปฏิทิน และ IM บนโทรศัพท์มือถือก็รวดเร็วและถูกต้อง แต่ทุกสิ่งทุกอย่างนั้น เมื่อมีข้อดีย่อมมีข้อเสีย โดยข้อเสียของ Google Apps คือ การที่ครูหรือนักเรียนหมกมุ่นอยู่กับโลกอินเตอร์มากเกินไป อาจส่งผลเสียต่อตนเองได้ หากไม่จัดระบบความรับผิดชอบของตนเอง และการใช้งานด้านเทคโนโลยีมากเกินไป อาจทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน หรือเพื่อนกับเพื่อนอาจน้อยลง  หรืออาจมีกิจกรรมร่วมกับครอบครัวน้อยลง ส่งผลเสียต่อตนเองและครอบครัวได้  ครูจึงต้องสอนให้นักเรียนใช้ง่ายอย่างจำกัด แบ่งเวลาให้ถูกต้อง และต้องให้ความสำคัญกับการเรียนมากกว่าโลกโซเชียล จึงจะเกิดผลดีกับนักเรียนเอง
          ดังนั้นจะเห็นได้ว่า สังคมในยุคปัจจุบัน เป็นสังคมที่พัฒนาด้วยเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและการสื่อสาร การจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีการนำเครื่องมือหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในการจัดระบบการเรียนการสอนเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในหลายๆด้านไม่ว่าจะเป็นการสร้างปฏิสัมพันธระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การเรียนการสอนผ่านเครือข่าย อินเทอรเน็ตที่สามารถเข้าเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งจะเห็นว่าสังคมออนไลน์ ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการจัดการเรียนการสอน แต่ในบางครั้งสังคมออนไลน์ที่ครูผู้สอนใช้อยู่ในปัจจุบัน อาจจะยังตอบสนองความต้องการหรือปัญหาต่างๆ ได้ไม่มากนัก เครื่องมือที่น่าสนใจในการจัดการเรียนการสอนปัจจุบัน คือ Google Apps for Education ที่จัดได้ว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยตอบสนองปัญหาต่างๆ ของการเรียนการสอนในห้องเรียน ได้อย่างหลากหลาย และมีประสิทธิภาพอีกเครื่องมือหนึ่งในการจัดการเรียนการสอนของไทย ดังนั้นจะเห็นได้ ว่า Google Apps for Education สามารถตอบโจทย์การศึกษายุคใหม่ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้ชื่อว่าเป็นการสร้างตำนานแห่งโลกการศึกษายุคใหม่ เพราะได้ทำให้รูปแบบการจัดการเรียนการสอน การติดต่อสื่อสาร การมีปฏิสัมพันธ์ แปรเปลี่ยนไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง เด็กไทยจะก้าวเข้าสู่เด็กที่ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในศตวรรษที่ 21 และพัฒนาไปพร้อมๆกับการศึกษาที่มุ่งให้เป็นเด็กที่เก่ง ดี และมีความสุข อย่างยั่งยืนต่อไป


อ้างอิง  
-        พนม พงษ์ไพบูลย์. (2543). บันทึกปลัดกระทรวงศึกษาธิการ. วารสารข้าราชการครู, 20 (6), 6.
-          พิธาน โพธิ์รอด.(2555) http://darkspace0l0.blogspot.com/2012/06/google-apps.html 

วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2559

การสอนภาษาไทยในศตวรรษที่ 21

วิธีวิทยาการการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยโดยใช้บันได ๕ ขั้น ของการพัฒนาผู้เรียน
สู่มาตรฐานสากลในศตวรรษที่ ๒๑ (Five Steps for Student Development)
                                                               โดย อาจารย์วุฒิพงษ์  คำเนตร
                       สาขาภาษาไทย  คณะครุศาสตร์
                       มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

                      ปัจจุบัน ในประเทศและสังคมโลกที่มีการพัฒนาก้าวไกลแล้ว ไม่ว่าจะเป็นด้านความเจริญทางเทคโนโลยี การคมนาคม หรือการขนส่งต่างๆนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยเกื้อหนุนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมมนุษย์ได้ แม้กระทั่งการศึกษาในยุคปัจจุบันก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัยอยู่ตลอดเวลาตามวิถีทางสังคมมนุษย์และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ไร้ขีดจำกัด  การศึกษาไทย แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงตามยุคตามสมัย และวิถีความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีการพัฒนาแล้วก็ตาม หลักสูตรและวิธีการจัดการเรียนรู้ใหม่ ๆ ยังไม่สามารถบ่งชี้ให้ครูผู้สอนเห็นว่าผู้เรียนเกิดความเปลี่ยนแปลงในการเรียนรู้และยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้สูงขึ้นทั้งหมดทั่วประเทศได้  ซึ่งขณะเดียวกันครูผู้สอนก็ได้พยายามอย่างเต็มที่เพื่อหาวิธีที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่เหมาะสม และนำมาเพื่อการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้สูงขึ้น
                   สำหรับการสอนภาษาไทยนั้น ไม่ว่าสังคมโลกจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางอย่างไรก็ตาม กระบวนการในการจัดการเรียนรู้ในรายวิชาภาษาไทยก็ยังคงมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเกิดทักษะที่จำเป็นในด้านของการสื่อสาร การฟัง พูด อ่าน เขียน ให้มีประสิทธิภาพ โดยทั้งหมดจะต้องให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจหลักภาษาและวรรณคดีไทยอย่างเห็นคุณค่า ในฐานะที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม โดยครูผู้สอนจำเป็นที่จะต้องหาเทคนิควิธีเพื่อจะให้นักเรียนได้เกิดความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาวิชามากยิ่งขึ้น ซึ่งผู้เขียนจะได้นำเสนอรูปแบบและวิธีการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยในสาระการเรียนรู้ต่างๆ โดยใช้บันได ๕ ขั้น ของการพัฒนาผู้เรียนสู่มาตรฐานสากลในศตวรรษที่ ๒๑ ดังต่อไปนี้
                การพัฒนาผู้เรียนสู่มาตรฐานสากลในศตวรรษที่ ๒๑ นั้น หมายความว่า เป็นวิธีที่ครูผู้สอนภาษาไทยจะต้องสามารถบูรณาการ จัดการเรียนการสอน โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างความรู้ ความสามารถของผู้เรียน และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนในศตวรรษที่ ๒๑ ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ๒๕๕๑ ให้สอดคล้องกับปฏิญญาว่าด้วยการจัดการศึกษาของ UNESCO  ประการแรก คือการเรียนเพื่อให้มีความรู้ในสิ่งต่างๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อไป เช่น การรู้จักแสวงหาความรู้ การต่อยอดความรู้ที่มีอยู่ การสร้างความรู้ขึ้นใหม่ (Learning to know) ประการที่สอง คือการเรียนเพื่อปฏิบัติลงมือทำ นำไปสู่การประกอบอาชีพจากความรู้ที่ได้มา และการสร้างประโยชน์แก่สังคม (Learning to do) ประการที่สาม คือการเรียนรู้เพื่อการดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีความสุข เช่น การเรียน ครอบครัว สังคมและการทำงาน (Learning to live together ) ประการสุดท้าย คือ การเรียนรู้เพื่อรู้จักตนเองอย่างถ่องแท้ รู้ถึงศักยภาพ ความถนัดและความสนใจของตนเอง และสามารถวางแผนชีวิตให้แก่ตนเองได้ (Learning to be)
                            บันได ๕ ขั้น ของการพัฒนาผู้เรียนสู่มาตรฐานสากลในศตวรรษที่ ๒๑ (Five Steps for Student Development) คือการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนมีศักยภาพ และคุณลักษณะตามมาตรฐานสากล โดยจะต้องเป็นบุคคลที่มีคุณภาพ มีทักษะในการค้นคว้า แสวงหาความรู้และมีความรู้พื้นฐานที่จำเป็น โดยครูผู้สอนจะต้องพยายามจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และเข้าถึงองค์ความรู้ด้วยตนเองได้ (Constructivism) ซึ่งบันได ๕ ขั้นของการพัฒนาผู้เรียนสู่มาตรฐานสากล ยังสามารถที่จะนำมาใช้ในการบูรณาการจัดการเรียนรู้ในรายวิชาภาษาไทยได้ ซึ่งมีขั้นตอนของบันได ๕ ขั้น สู่วิธีการและการจัดการเรียนรู้ในบริบทและขั้นตอนต่อไปนี้
                                                ๑. ขั้นการตั้งคำถาม/สมมติฐาน (Learning to Question) เป็นขั้นตอนที่ครูผู้สอนจะต้องฝึกให้ผู้เรียนได้รู้จักคิด สังเกต ตั้งคำถาม และเกิดการเรียนรู้จากการตั้งคำถาม
                                                ๒. ขั้นการสืบค้นความรู้และสารสนเทศ (Learning to Search) ครูผู้สอนจะต้องฝึกให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้ สืบค้นข้อมูล จากแหล่งข้อมูลและสารสนเทศต่างๆ จากการฝึกปฏิบัติและการทดลอง ตลอดจนการเก็บข้อมูล เป็นต้น
                                                ๓. ขั้นการสร้างความรู้ (Learning to Construct) เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกันที่ครูผู้สอนจะต้องฝึกให้ผู้เรียนนำความรู้จากการศึกษาค้นคว้า การทดลอง มาใช้ในการถกแถลง แสดงความคิดเห็น อภิปรายความรู้ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การสรุปและสร้างองค์ความรู้
                                            ๔. ขั้นการสื่อสารและนำเสนออย่างมีประสิทธิภาพ(Learning toCommunication) เป็นการฝึกให้ผู้เรียนนำความรู้ที่ได้มาสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การพูด การอ่าน การเขียน หน้าชั้น
                                                ๕. ขั้นการบริการสังคมและจิตสาธารณะ (Learning to Serve) คือการที่ครูผู้สอนจะต้องฝึกให้ผู้เรียนนำความรู้มาสู่การปฏิบัติ สามารถเชื่อมโยงความรู้ไปสู่การทำประโยชน์ให้กับสังคม อันจะส่งผลต่อการมีจิตสาธารณะของผู้เรียนและการบริการสังคม
                            จากข้างต้น เป็นเพียงขั้นตอนและบันไดที่ครูผู้สอนภาษาไทยจะต้องสามารถนำมาใช้ในการบูรณาการการจัดการเรียนรู้ในรายวิชา เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนได้องค์ความรู้จากการสังเกตและตั้งคำถาม ส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถสืบค้นข้อมูลและรู้จักวิธีการแสวงหาความรู้ ส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถสร้างองค์ความรู้และนำความรู้ที่ได้มาถกปัญหา แสดงความรู้ความคิด อันนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้และมุมมองที่หลากหลาย ส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้มาใช้ในการสื่อสารด้วยวิธีต่างๆ ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ที่มีอยู่มาใช้ในการสร้างประโยชน์แก่สังคมโดยมีจิตสาธารณะควบคู่กับการจัดการเรียนการสอน
                            อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทฤษฎีและขั้นตอนจะกล่าวไว้อย่างชัดเจนก็ตาม สิ่งที่จะนำมาสู่ประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียนได้นั้น คงหนีไม่พ้นกระบวนการปรับเปลี่ยนวิธีสอนของครูควบคู่กับการหลอมรวมพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางของหลักการ ซึ่งครูผู้สอนอาจยุ่งยากต่อการเปลี่ยนแปลงและปฏิบัติในสิ่งใหม่ๆ แต่ก็ไม่ลำบากมากจนเกินไปหากครูผู้สอนภาษาไทยยอมรับและมีความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการสอนของตน
                            วิธีวิทยาการการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยโดยใช้บันได ๕ ขั้น ของการพัฒนาผู้เรียนสู่มาตรฐานสากลในศตวรรษที่ ๒๑ (Five Steps for Student Development) เป็นแนวทางของวิธีสอนที่มีความสัมพันธ์กันอย่างลงตัวกับทฤษฏีการสร้างสรรค์ความรู้ (Constructivism) โดยการส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงกระบวนการเรียนรู้ และสามารถสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง อันมาจากข้อสงสัยและการตั้งคำถามเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และการหาคำตอบ ทั้งนี้ครูผู้สอนเป็นเพียงผู้ทำหน้าที่จัดประสบการณ์ในการเรียนรู้ คอยกระตุ้น ประคับประคอง ให้คำปรึกษาแก่ผู้เรียนอย่างใกล้ชิด แต่อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดความทันสมัยและความเปลี่ยนแปลงสังคมโลก ผู้เขียนจึงขอยกตัวอย่างนำเสนอแนวทางวิธีวิทยาการการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยโดยใช้บันได ๕ ขั้นของการพัฒนาผู้เรียนสู่มาตรฐานสากลบางสาระดังนี้
                            การสอนหลักภาษาไทย จากประสบการณ์ตรงที่ผู้เขียนได้สอนนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเป็นเวลานับสิบปี จะเห็นได้ว่าการสอนหลักภาษาไทย เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยุ่งยากสำหรับครูผู้สอนและผู้เรียนมาก อาจเป็นเพราะเนื้อหาที่ค่อนข้างยาก ซับซ้อน มีกฎเกณฑ์ที่เข้าใจยาก ซึ่งบ่อยครั้งจะเห็นว่าผู้เรียนไม่ค่อยสนใจเรียนรู้เท่าที่ควร พอถึงชั่วโมงที่จะต้องสอนหลักภาษาไทย จำเป็นมากที่จะต้องหาวิธีการที่หลากหลายเพื่อดึงดูดความสนใจผู้เรียน
                            วิธีการสอนหลักภาษาไทยที่เหมาะสมนั้น จำเป็นมากที่ครูจะต้องปลูกฝังให้ผู้เรียนเห็นคุณประโยชน์จากการเรียนหลักภาษา สอนให้ผู้เรียนได้ทราบกฎเกณฑ์ทางภาษาเฉพาะที่จำเป็น เช่นประโยคและโครงสร้างของประโยคในภาษาไทย  คำและหน้าที่ของคำในภาษาไทย รูปลักษณ์คำไทย เป็นต้น เพื่อให้ผู้เรียนได้นำความรู้เหล่านั้นไปใช้ในการสื่อสาร ฟัง พูด อ่าน เขียน โดยให้หลักภาษาไทยได้เกิดความสัมพันธ์กับการใช้ภาษาไทย ครูจะต้องสอนหลักภาษาไทยโดยการฝึกทักษะทั้งสี่ให้แก่ผู้เรียนในชั้นเรียนโดยให้มีการซักถาม พูดอธิบาย  แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด ต่อประเด็นของเนื้อหาหลักภาษาไทยที่ครูกำลังสอน  ซึ่งครูสามารถนำบันได ๕ ขั้นมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน นำขั้นตอนทั้ง ๕ ขั้นมากำหนดกิจกรรมลงสู่แผนการจัดการเรียนรู้ และนำแผนการจัดการเรียนรู้ไปใช้ และสร้างประสบการณ์ให้แก่ผู้เรียนตามขั้นตอนคือ
                                                ขั้นแรก ครูคอยกระตุ้นให้ผู้เรียนมีการตั้งคำถาม ให้รู้จักการสังเกต ในประเด็นและกฎเกณฑ์ของหลักภาษาไทย จากนั้นครูและนักเรียนช่วยกันเลือกประเด็นคำถามที่มีประโยชน์ต่อการเรียนรู้มาใช้เป็นประเด็นในการค้นคว้าหาคำตอบร่วมกัน ยกตัวอย่างการสอนเรื่องภาษาต่างประเทศในภาษาไทย อาจกระตุ้นให้ผู้เรียนได้เกิดข้อคำถาม ซึ่งข้อคำถามของผู้เรียนอาจถามว่า ภาษาต่างประเทศในภาษาไทย มีภาษาอะไรบ้าง ?  วิธีสังเกตภาษาต่างประเทศแต่ละภาษามีวิธีการสังเกตอย่างไร ? เพราะเหตุใดภาษาไทยจึงต้องมีภาษาต่างประเทศเข้ามาปะปนในภาษาไทย ? ซึ่งคำถามของผู้เรียนทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การค้นหาคำตอบในขั้นที่สอง
                                                ขั้นที่สองคือ การสืบค้นความรู้และสารสนเทศ ซึ่งครูจะต้องมีบทบาทในการแนะนำแหล่งวิทยาการต่างๆ ให้ผู้เรียนได้แสวงหาความรู้ด้วยตนเอง โดยนำเอาข้อคำถามต่างๆที่เป็นประเด็นในชั้นเรียนมาสืบค้นหาข้อมูล ครูจะต้องทำหน้าที่ประคับประคองให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้อย่างเหมาะสม เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำเอาข้อมูลที่ได้จากการค้นคว้ามาจัดกิจกรรมในชั้นเรียนอีกครั้งหนึ่งในขั้นที่สาม
                                                ขั้นที่สาม คือการสร้างองค์ความรู้ โดยให้ผู้เรียนนำเอาข้อมูลความรู้ที่ได้มานั้นมานำเสนอและช่วยกันอภิปรายเพิ่มเติม เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีการถกประเด็นร่วมกัน เช่น เพราะเหตุใดภาษาไทยจึงต้องมีภาษาต่างประเทศเข้ามาปะปนในภาษาไทย ประเด็นคำตอบของผู้เรียนแต่ละคนนั้นอาจมีความแตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับประสบการณ์และการเรียนรู้เป็นสำคัญ โดยครูจะต้องคอยกระตุ้นให้ผู้เรียนแต่ละคนได้อภิปรายความรู้มีการวิพากษ์วิจารณ์ความรู้ ที่ได้มาร่วมกันเพื่อเป็นการสรุปและสร้างองค์ความรู้ จากนั้นในขั้นที่สี่
                                                ขั้นที่สี่ เป็นการสื่อสารและนำเสนออย่างมีประสิทธิภาพ เป็นขั้นตอนที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้มีการนำเอาความรู้จากการค้นคว้าด้วยตนเองมาใช้ในกระบวนการของการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ เช่น กำหนดให้ผู้เรียนนำเนื้อหาสาระที่ได้จากการศึกษาค้นคว้ามาใช้ในการสื่อสาร เช่น เขียนสื่อสารความรู้ในรูปแบบการเขียนเรียงความ การเขียนบทความ การเขียนวิเคราะห์วิจารณ์ ตลอดจนการพูดหน้าชั้นเรียนในรูปแบบต่างๆ อาจเป็นการพูดนำเสนอข้อมูล การพูดวิเคราะห์วิจารณ์และการพูดแสดงความคิดเห็น ซึ่งการนำเสนอทักษะการสื่อสารด้วยการพูด หากจะให้เกิดรูปธรรมและชิ้นงานของผู้เรียน ครูอาจกำหนดให้ผู้เรียนได้อัดคลิปวีดีโอมาส่ง โดยใช้เครื่องมือสื่อสารในชีวิตประจำวันที่ผู้เรียนมีอยู่หรือหาได้ง่าย ๆ เช่นโทรศัพท์มือถือ หรือกล้องดิจิตอล เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมในชั้นเรียนลักษณะนี้จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการตื่นตัว สนใจในวิธีการนำเสนอและการสื่อสารรูปแบบต่างๆได้
                                                ขั้นที่ห้า เป็นขั้นของการบริการสังคมและจิตสาธารณะ หลังจากที่ผู้เรียนได้มีการสื่อสารด้วยวิธีต่างๆแล้ว ข้อมูลความรู้ที่ผู้เรียนได้มีการสื่อสารโดยการบันทึกไว้ในลักษณะต่างๆ ในขั้นที่สี่  เช่นคลิปวีดีโอการพูดสื่อสารลักษณะต่างๆ เรียงความ บทความ เกี่ยวกับภาษาต่างประเทศในภาษาไทย ที่เป็นผลงานนักเรียน ครูอาจจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้มีการเผยแพร่องค์ความรู้ ส่งเสริมให้ผู้เรียนตระหนักและเห็นคุณค่าในผลงานของตน แล้วนำผลงานของตนมาเผยแพร่ในกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดนิทรรศการผลงานคลิปวิดีโอ งานเขียน เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้แก่คนอื่นในโรงเรียน เป็นต้น
                            การสอนวรรณคดีไทย แม้ว่าครูผู้สอนจะสอนวรรณคดีไทยในระดับชั้นประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษาก็ตาม การเรียนการสอนวรรณคดีไทยยังคงประสบปัญหาหลายอย่าง เช่น ผู้เรียนไม่เห็นคุณค่าของวรรณคดีไทยอย่างแท้จริง ครูมักจะมุ่งเน้นในการสอนคำศัพท์และเนื้อหาของวรรณคดีมากกว่าการพัฒนาความคิดของผู้เรียน ให้รู้จักสังเกต แยกแยะ วิเคราะห์ วิจารณ์  ฉะนั้นเพื่อให้การสอนวรรณคดีเป็นไปตามหลักการที่เหมาะสม ครูจะต้องสอนเนื้อหาวรรณคดีให้มีความสัมพันธ์กับชีวิตประจำวันของผู้เรียน ให้ผู้เรียนเกิดประสบการณ์จากการเรียนรู้ สามารถดึงแง่คิด วิเคราะห์วิจารณ์สังคม ตัวละครได้อย่างมีเหตุมีผล และมีวิจารณญาณได้ นอกจากนี้ครูจะต้องสามารถสอนวรรณคดีในฐานะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมได้ จะต้องสอนวรรณคดีในฐานะเป็นศิลปะภาษา จะต้องสอนวรรณคดีในฐานะเป็นประสบการณ์ชีวิต โดยจัดกิจกรรมการเรียนการสอนมุ่งเน้นการพัฒนาความคิดของผู้เรียน ให้อิสระทางความคิดของผู้เรียน ครูจะต้องชี้แนะแนวทางวิธีการคิดที่ถูกต้องและหลากหลาย เพื่อให้ผู้เรียนสนใจและเรียนรู้วรรณคดีอย่างเห็นคุณค่า ตลอดจนความงามของวรรณคดี
                            เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนเป็นไปในทิศทางมาตรฐานสากล ผู้เขียนจึงขอนำเสนอวิธีสอนวรรณคดีโดยใช้บันได ๕ ขั้น มาใช้ในการจัดการเรียนรู้พอสังเขปดังนี้
                                                ขั้นที่ ๑ ขั้นการตั้งคำถาม / สมมติฐาน ไม่ว่าจะเป็นการสอนวรรณคดีระดับประถมหรือมัธยมก็ตาม การกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการคิด เกิดข้อสงสัยจะสามารถทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่ดีและหาคำตอบด้วยตนเองได้ ดังนั้นเพื่อให้เกิดความตื่นเต้นสนุกและน่าสนใจในการเรียนรู้วรรณคดีของผู้เรียน ครูควรจัดกิจกรรมการเรียนการสอนดังนี้
                                                -  ครูกำหนดวรรณคดีเรื่องที่จะสอนเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมาเป็นตัวตั้ง จากนั้นครูบอกและอธิบายตัวชี้วัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนกำลังจะเรียน
                                                -  ครูคอยกระตุ้นให้นักเรียนตั้งคำถามตามที่นักเรียนสนใจอยากจะรู้ หรือเชิญชวนให้นักเรียนตั้งประเด็นข้อสงสัยในเนื้อหาวรรณคดีเรื่องที่จะเรียน ยกตัวอย่างคำถามเกี่ยวกับวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนพลายแก้วแต่งงานกับนางพิม เช่น เพราะอะไรมนุษย์จึงต้องแต่งงานกัน? การแต่งงานมีขั้นตอนอย่างไรเพราะอะไรการแต่งงานจึงต้องมีสินสอดทองหมั้น ?เพราะเหตุใดนางพิม    จึงเลือกแต่งงานกับพลายแก้ว ทั้งๆ ที่ขุนช้างก็ร่ำรวยกว่า ?
                                                -  เมื่อผู้เรียนสร้างคำถามแล้ว ครูและนักเรียนพิจารณาคำถามร่วมกัน แล้วช่วยกันเลือกคำถามเพื่อนำไปสืบค้นเรียนรู้และหาคำตอบ
                                                ขั้นที่ ๒ ขั้นการสืบค้นข้อมูล เมื่อผู้เรียนได้ข้อคำถามแล้ว ครูทำหน้าที่แนะนำแหล่งวิทยาการให้ผู้เรียนได้ไปศึกษาหาความรู้ อาจเป็นการสืบค้นทางอินเทอร์เน็ต  เข้าห้องสมุด หรือถ้าเป็นนักเรียนระดับชั้นโต ก็สามารถให้นักเรียนไปเก็บข้อมูล หรือสัมภาษณ์ความรู้จากผู้หลักผู้ใหญ่ซึ่งอยู่ในชุมชนของผู้เรียนเอง ซึ่งการเก็บข้อมูลครูจะต้องให้ความช่วยเหลือเป็นที่ปรึกษาในการออกแบบวิธีการเก็บข้อมูล แบบสัมภาษณ์ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เหมาะสม
                                                ขั้นที่ ๓ การสร้างองค์ความรู้ ขั้นนี้ถือได้ว่าเป็นขั้นที่ผู้เรียนจะได้เกิดการสะท้อนความรู้ ครูอาจเปิดเวทีให้ผู้เรียนได้มีการอภิปรายความรู้คำตอบและสิ่งที่ตนเองได้ไปเรียนรู้มา ซึ่งคำตอบที่ได้มาอาจมีความแตกต่างกัน ครูควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ความรู้ร่วมกันในมุมมองที่แตกต่างเพื่อหาข้อสรุปขององค์ความรู้ที่ได้มา
                                                ขั้นที่ ๔ การสื่อสารและนำเสนออย่างมีประสิทธิภาพ หากเป็นไปได้ในเด็กโต ครูอาจกำหนดให้ผู้เรียนได้มีการแบ่งกลุ่มและทำงานร่วมกัน โดยให้ผู้เรียนทุกคนได้มีโอกาสนำความรู้ที่ได้ไปศึกษามาจัดประสบการณ์ด้วยวิธีการสื่อสารการพูด การเขียน หรืออาจให้ผู้เรียนช่วยกันเขียนบทละครจากวรรณคดีที่เรียน และนำมาให้ครูตรวจสอบว่า บทละครที่เขียนขึ้น ฉาก บรรยากาศ ตัวละคร มีความสอดคล้องกับเนื้อเรื่องหรือไม่ จากนั้นให้ผู้เรียนไปซ้อมการแสดงตามบทละครที่กลุ่มตนเองเขียนขึ้นมาเพื่อนำไปแสดงหน้าชั้นเรียน หรือ หน้าเสาธงก็ได้
                                                ขั้นที่ ๕ การบริการสังคมและจิตสาธารณะ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนวรรณคดีอย่างเห็นคุณค่ามากยิ่งขึ้น การเชื่อมโยงขั้นที่สี่มาสู่การบริการสังคมเป็นสิ่งที่กระทำได้ไม่ยากคือ ครูอาจมอบหมายให้แต่ละกลุ่มจัดการแสดงละครภายในโรงเรียน แล้วเชิญครูและนักเรียนมาร่วมชมการแสดง หรืออาจจัดการแสดงในกิจกรรมหน้าเสาธงก็ได้ตามความเหมาะสม
                            จากแนวทางวิธีวิทยาการการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยโดยใช้บันได ๕ ขั้น ของการพัฒนาผู้เรียนสู่มาตรฐานสากลข้างต้นนั้น เป็นเพียงแนวคิดที่ต้องการนำเสนอให้ครูผู้สอนภาษาไทยได้เห็นภาพว่าการจัดการเรียนการสอนด้วยวิธีดังกล่าวสามารถที่จะนำมาบูรณาการการจัดการเรียนรู้ให้เข้ากับตัวชี้วัดชองสาระวิชาตามหลักสูตรได้ทั้งสิ้น หากเพียงแค่ครูได้กำหนดวิธีการที่เหมาะสมโดยใช้วิธีการกระตุ้นการตั้งคำถามของผู้เรียนให้สอดคล้องกับเรื่องที่กำลังจะสอนให้ได้มากที่สุด ก็จะสามารถเป็นบันไดสู่การเรียนรู้ของผู้เรียนได้ อย่างไรก็ตามแม้ว่าในศตวรรษที่ ๒๑ จะมุ่งเน้นให้ผู้เรียนรู้จักการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองเป็นสำคัญของการพัฒนาการเรียนรู้มากขึ้นเพียงใดก็ตาม กระบวนการที่กล่าวมาก็ไม่ได้ถือว่าเป็นแนวคิดใหม่แต่อย่างไร หากจะมองในเรื่องของทฤษฎีการจัดการเรียนรู้แล้วบันได ๕ ขั้นล้วนสัมพันธ์กับทฤษฎีการสร้างสรรค์ความรู้นิยม หรือที่เรียกว่า คอนสตรัคติวิซึม (Constructivism) ซึ่งเป็นแนวคิดทางจิตวิทยา โดยมุ่งเน้นให้เกิดการเรียนรู้จากประเด็นข้อสงสัยและการหาคำตอบ เป็นทฤษฎีพหุปัญญา       ซึ่งผู้สอนต้องเข้าใจและเห็นถึงคุณค่าความแตกต่างของผู้เรียนแต่ละคน  โดยมองว่าผู้เรียนแต่ละคนมีความรู้และประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งนักการศึกษาหลายท่านเห็นว่าผู้เรียนทุกคนมีศักยภาพและสามารถที่จะเรียนรู้ได้ในประสบการณ์และแนวคิดที่แตกต่างกัน  ถ้าผู้เรียนมีความรู้เดิมอยู่บ้างจะสามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่ได้โดยการเชื่อมโยงประสบการณ์ใหม่เข้ากับความรู้เดิมที่มีอยู่  ดังนั้นบทบาทผู้สอนเป็นเพียงผู้ค้นหาความรู้เดิมผู้เรียนแล้วจัดสถานการณ์ใหม่เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนสามารถสร้างองค์ความรู้ขึ้นเองได้ และการเรียนรู้ตามแนวคิดนี้เป็นกระบวนการที่ไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ในการสร้าง การรวบรวม และการตกแต่งความรู้ของผู้เรียนเอง ดังนั้นจะเห็นว่าแนวทางทั้งสองมีความสัมพันธ์กันเป็นอย่างมาก ฉะนั้นผู้เขียนจึงเห็นว่า การนำบันได ๕ ขั้น มาใช้ในการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ แต่อย่างไรก็ตามหากครูสามารถที่จะปลูกฝังให้ผู้เรียนมีจิตสำนึกในการเรียนรู้ เห็นคุณค่าและประโยชน์ในการเรียนรู้ มีนิสัยในการเรียนรู้ให้มากขึ้นได้ บันได ๕ ขั้นของการพัฒนาผู้เรียนสู่มาตรฐานสากลก็จะไม่ใช่เรื่องยากในการสอนของครูอีกต่อไป

ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://wutthiphongkhamnet.blogspot.com/


เอกสารอ้างอิง

วุฒิพงษ์  คำเนตร. (2548). การจัดกิจกรรมตามแนวคิดการสร้างความรู้นิยมเพื่อส่งเสริมทักษะและนิสัย
        รักการอ่านของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2.  การศึกษาแบบอิสระ  ศึกษาศาสตร
         มหาบัณฑิต  บัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
วรรณทิพา รอดแรงค้า(2540)CONSTRUCTIVISM. ภาควิชาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์
         มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
สุรางค์ โค้วตระกูล(2537)จิตวิทยาการศึกษาพิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานครโรงพิมพ์
                        จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สุวิทย์ มูลคำ และอรทัย มูลคำ(2545)วิธีการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการคิด.
        กรุงเทพมหานครโรงพิมพ์ภาพพิมพ์.
สมบัติ   การจนารักพงค์.  (2544 ). การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การสอนแบบ
สรรค์สร้างความรู้.  กรุงเทพฯ: แคนดิดมีเดีย.
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ. (2555). แนวทางการจัด
                       การเรียนการสอนในโรงเรียนมาตรฐานสากล. กรุงเทพมหานครโรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์
                       การเกษตรแห่งประเทศไทย.
ศรีวิไล  พลมณี (2545). ภาษาและการสอน. กรุงเทพมหานครโรงพิมพ์เคล็ดไทย.
Cobb, P. Wood L. and Yakel, E. (1994)Constructivist Approach to Second Grade
       Mathematics. in E.
      Von Glasersfeld (ed). Radical Constructivism in Mathematics Education, 
       pp. 157 – 176.
Vygotsky,L. (1978)Mind in Society: The Development of Higher psychological Processes.    
                    in Cole, M. and  Others. eds. Cambridge: Harvard University Press
Zahoric, J.A. (1995)Constructivist Teaching, Bloomington, Indiana: Phi Delta Kappa Educational
                    Foundation

ทักษะแห่งอนาคตใหม่: การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 คือ อย่างไร ?


ทักษะแห่งอนาคตใหม่: การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 คือ อย่างไร ?






ศตวรรษที่ 21 สถานการณ์โลกมีความแตกต่างจากศตวรรษที่ 20 และ 19 ระบบการศึกษา ต้องมีการพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะความเป็นจริง
         ในประเทศสหรัฐอเมริกาแนวคิดเรื่อง "ทักษะแห่งอนาคตใหม่: การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21" ได้ถูกพัฒนาขึ้น โดยภาคส่วนที่เกิดจากวงการนอกการศึกษา ประกอบด้วย บริษัทเอกชนชั้นนำขนาดใหญ่ เช่น บริษัทแอปเปิ้ล บริษัทไมโครซอฟ บริษัทวอล์ดิสนีย์ องค์กรวิชาชีพระดับประเทศ และสำนักงานด้านการศึกษาของรัฐ รวมตัวและก่อตั้งเป็นเครือข่ายองค์กรความร่วมมือเพื่อทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (Partnership for 21st Century Skills) หรือเรียกย่อๆว่า เครือข่าย P21
        หน่วยงานเหล่านี้มีความกังวลและเห็นความจำเป็นที่เยาวชนจะต้องมีทักษะสำหรับการออกไปดำรงชีวิตในโลกแห่งศตวรรษที่ 21      ที่เปลี่ยนไปจากศตวรรษที่ 20 และ 19 จึงได้พัฒนาวิสัยทัศน์และกรอบความคิดเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21ขึ้น สามารถสรุปทักษะสำคัญอย่างย่อๆ ที่เด็กและเยาวชนควรมีได้ว่า ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม หรือ 3R  และ 4Cซึ่งมีองค์ประกอบ ดังนี้
  • 3 R ได้แก่ Reading (การอ่าน), การเขียน(Writing) และ คณิตศาสตร์ (Arithmetic) และ
  • 4 C (Critical Thinking - การคิดวิเคราะห์, Communication- การสื่อสาร Collaboration-การร่วมมือ และ Creativity-ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงทักษะชีวิตและอาชีพ และทักษะด้านสารสนเทศสื่อและเทคโนโลยี และการบริหารจัดการด้านการศึกษาแบบใหม่ 
       แนวคิดทักษะแห่งอนาคตใหม่: การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 คืออย่างไร และคุณลักษณะที่เด็กและเยาวชนพึงมีในโลกยุคใหม่คืออย่างไร คลิกเพื่ออ่านต่อและดาวน์โหลดเอกสารที่นี่
       นอกจากนี้ยังมีนักการศึกษาอีกท่านหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันเรื่องการฎิรูปการเรียนรู้ดังกล่าวให้กว้างขวางขึ้น คือเซอร์เคน โรบินสัน นักการศึกษาระดับโลก โดยได้เน้นยำ้ถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงแนวคิดการจัดการศึกษาระบบโรงงาน มาเป็นการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้คิดอย่างสร้างสรรค์และเข้ากับบริบทของโลกที่ได้เปลี่ยนแปลงไป  ชมแอนิเมชั่นด้านบน การเปลี่ยนแปลงแนวคิดด้านการศึกษาในศตวรรษที่ 21  (Changing Education Paradigms)โดย เซอร์เคน โรบินสัน 
         กรอบแนวคิดข้างต้นเองก็เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาทักษะแห่งอนาคตใหม่ในประเทศไทยและท่านที่ริเริ่มและมีบทบาทสำคัญในการผลักดันได้แก่ ศ.นพ. วิจารณ์ พานิช โดยท่านได้เขียนลงบล็อก  http://www.gotoknow.org อยู่เป็นประจำ รวมถึงได้เขียนหนังสือออกมาชื่อว่า  วิถีสร้างการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21
(สามารถดาวน์โหลดหนังสือได้ที่ http://www.noppawan.sskru.ac.th/data/learn_c21.pdf)
ข้อมูลจาก Langwitches.org

วันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ครูยุคศตวรรษที่21

ครูศตวรรษที่ 21

            ครูในยุคศตวรรษ ที่ 21 คือ ครูในยุคโลกาภิวัฒน์ จะต้องมีความรู้กว้างไกลในเทคโนโลยี โลกสมัยใหม่เต็มไปด้วย IT ครูจะต้องพัฒนาแบบก้าวกระโดดจึงจะทันโลกยุคใหม่ นวัตกรรมจึงเป็นเครื่องมือของครูยุคใหม่ ที่จะต้องพัฒนาตนเองในด้านเทคโนโลยี วิชาการ เพื่อนำนวัตกรรมไปพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้และเข้าใจในบทเรียนมากยิ่งขึ้นและยังถือได้ว่า ครูเป็นผู้พัฒนาตนเองอยู่เสมอ
            บทบาท ของครู ศตวรรษ ที่ 21 คือการช่วยเตรียมให้ผู้เรียนมีความพร้อมในการปรับตัวเพื่อดำรงชีวิตอยู่อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับลักษณะที่เป็นไปของสังคม ครูคือผู้ที่ต้องช่วยให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตนเองได้สูงสุดเท่าที่เป็นไปได้ หรือกล่าวอีกอย่างว่าต้องช่วยให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตนได้เต็มตามศักยภาพของเขา อาจสรุปบทบาทหน้าที่ของครูในยุคใหม่ได้ คือ ต้องสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ หมายถึงการที่ครูทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือสนับสนุนให้ผู้เรียนพัฒนาตนได้เต็มตามศักยภาพของเขาโดยสอดคล้องกับความจำเป็นเพื่อการดำรงชีวิตในสังคมยุคใหม่และส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะความรู้และเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วและล้าสมัยเร็ว ผู้คนในยุคใหม่ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา ครูจะต้องฝึกนิสัยให้ผู้เรียนรักการเรียนรู้ปรับเปลี่ยนความคิดได้ง่าย มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและสอนวิธีเรียนมากกว่าสอนเนื้อหา เพราะเนื้อหาในยุคสมัยนี้จะมากเกินกว่าที่จะเรียนรู้ได้อย่างพอเพียง และข้อมูลและเนื้อหาก็เปลี่ยนแปลงเร็วทำให้การจดจำเนื้อหาความรู้เป็นสิ่งที่ใช้ได้และมีประโยชน์น้อย
           ครูในศตวรรษที่ 21 ต้องมีความคิดที่กว้างไกลมีการใช้สื่อเทคโนโลยีในการสอน  และควรคำนึงถึงวัยของผู้เรียนและความเข้าใจในสื่อที่จะนำมาถ่ายทอด อย่างเช่น สื่อสำหรับเด็กอนุบาลก็ควรจะต้องมีสิ่งที่ดึงดูดความสนใจ เพราะเด็กจะมีสมาธิสั้นก็ควรจะมีการใช้ภาพเคลื่อนไหวหรือการ์ตูนต่างๆ เพื่อให้เด็กมีไหวพริบปฏิภาณที่ดี สำหรับเด็กประถมก็ควรจะหาสื่อการเรียนการสอนที่ยากมาอีกหน่อย อย่างเช่นเกมส์ และเด็กในวัยนี้สามารถเรียนการใช้คอมพิวเตอร์เบื้องต้นได้ และเด็กมัธยมต้นก็ควรจะหาสื่อที่ยากกว่านี้คือการเรียนที่ทันสมัยขึ้นมาอีกหน่อย เพราะเด็กในวัยนี้มีความรู้เรื่องเทคโนโลยีมาก อาจจะให้เด็กสมัคร E-mail เป็นของตัวเองเพื่อส่งงานให้กับคุณครูผู้สอน ส่วนเด็กมัธยมปลายก็ควรจะใช้สื่อ Power Point ในการเรียนการสอน
            ดังนั้นครูในศตวรรษที่ 21  จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน เพื่อจะได้นำความรู้มาถ่ายทอดให้กับนักเรียน และใช้สื่อเทคโนโลยีต่างๆที่ทันสมัยมาถ่ายทอดให้กับนักเรียน เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เรียนให้มากที่สุด
(ขอขอบคุณkrukook25)

บทเพลงสอนวรรณคดี



เรียนรู้วรรณคดีเรื่องทศกัณฑ์ จากบทเพลง



วรรณคดีไทยจากบทเพลง


จุติไม่ใช่เกิด จุติไม่ใช่ตาย

มโนทัศน์ที่คลาดเคลื่อน "จุติไม่ใช่เกิด จุติไม่ใช่ตาย แต่จุติแปลว่าเคลื่อน
จุติ (จุ-ติ,จุด-ติ) เป็นคำกริยา มาจากคำภาษาบาลีว่า จุติ แปลว่า เคลื่อน หมายถึงการที่เทวดาเปลี่ยนจากสภาพหนึ่งมาเป็นอีกสภาพหนึ่ง เป็นกริยาของเทวดาที่เสวยสุขอยู่บนสวรรค์จนหมดอายุการเป็นเทวดาแล้วจะเปลี่ยนสภาพลงมาเกิดเป็นมนุษย์ เช่น พระนางผุสดีจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตลงมาเกิดเป็นมเหสีพระเจ้ากรุงสญชัย.
คำว่า จุติ ใช้เฉพาะการที่เทวดาเคลื่อนจากภพที่สูงกว่าลงมาบังเกิดในภพที่ต่ำกว่า เป็นกิริยาของเทวดาโดยเฉพาะ ไม่ใช้กับผู้อื่น. ถ้าจะใช้ว่า มนุษย์จุติไปเกิดเป็นเทวดา ใช้ไม่ได้.
(ผู้เขียน ศ. ดร.กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิต ประเภทวรรณศิลป์ สาขาวิชาภาษาไทย สำนักศิลปกรรม)