วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ครูยุคใหม่ใช้ Google Apps

บทความเรื่อง 
 ครูยุคใหม่ใช้ Google Apps 

                                  โดย นางนัยนา  ยะตา
                                               รหัส 58207080 
                                               สาขาการบริหารการศึกษา 
                                               มหาวิทยาลัยพะเยา


แน่นอนว่าเราทุกคนมีครู บางคนมีครูเป็นต้นแบบ บางคนมีครูเป็นพ่อแม่พี่น้อง ไม่มีใครไม่รู้จักอาชีพครู และเด็กบางส่วนก็มีความฝันอยากจะเป็นครูด้วย  ทุกวันนี้บทบาทของครูกำลังเปลี่ยนไป ครูยุคเก่า มือซ้ายถือหนังสือ มือขวาถือชอล์ก ยืนหันหลังให้กระดานดำ สายตานักเรียนต่างจับจ้องที่ปากครูและถ้อยคำที่เปล่งออกมา ส่วนครูยุคใหม่ มือซ้ายถือแท็บเลต มือขวาถือรีโมทคอนโทรล นั่งหันหลังให้จอโปรเจคเตอร์ สายตานักเรียนต่างจับจ้องที่จอสีขาวนั้นและที่อยู่เว็บที่ปรากฏขึ้น เชื่อว่าคงมีหลายคนที่กำลังคิดว่า ครูยุคใหม่ดูจะไม่สนใจการสอนเท่าครูยุคเก่า แต่ถ้านี่เป็นการอธิบายเปรียบเทียบบทบาทของครูพบว่า ครูสมัยก่อนอาจมีบทบาทในการถ่ายทอดความรู้ให้กับศิษย์ แต่โลกได้เปลี่ยนไปแล้ว ครูยุคใหม่จึงจำต้องเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้แทน ยิ่งในยุคแห่งโลกาภิวัตน์เช่นนี้ เทคโนโลยีสารสนเทศก้าวหน้าไปมาก หากจะให้ครูสอนแบบเดิมอยู่คงเป็นไปได้ยาก การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์เช่นนี้จึงถือเป็นสิ่งสำคัญ  พนม พงษ์ไพบูลย์ (2543:6) ได้กล่าวไว้ว่า ในโลกยุคใหม่ การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาและเกิดขึ้นได้กับทุกคน ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนของครูจึงควรสอดคล้องกับแนวการปฏิรูปการศึกษา โดยผู้สอนจะต้องเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้อำนวยความสะดวก และลักษณะการสอนจะต้องมีความหลากหลาย สอนให้นักเรียนรู้จักคิด คิดเป็น ทำเป็น มีวิจารณญาณของตนเอง โดยครูจะต้องคอยให้คำชี้แนะ บทบาทของครูในอนาคตคือ การสอนวิธีหาความรู้ในโลกแห่งความรู้อันมากมายที่ไม่อาจสอนได้หมด การส่งเสริมให้เด็กนักเรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ทั้งจากการศึกษาค้นคว้า การคิดวิเคราะห์ ตลอดจนการลงมือทำเพื่อลองผิดลองถูกด้วยตนเอง เหล่านี้แหละที่เรียกว่าเป็นการอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้  
เมื่อครูต้องมีหน้าที่เช่นนี้ บทบาทของครูจึงไม่ใช่การถ่ายทอดแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป และการหน้าที่ของครูคงไม่ใช่การสอน หากแต่ต้องเปลี่ยนวิธีการเรียกใหม่เป็น “การจัดการเรียนรู้” โดยมีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง น่าจะเหมาะสมที่สุด ครั้นจะให้ครูเปลี่ยนบทบาทอย่างเดียวก็คงเป็นไปไม่ได้ นักเรียนจำต้องมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงนั้นด้วย เพราะหากผู้อำนวยความสะดวกทุ่มเทเท่าไร แต่ขาดความร่วมมือจากผู้เรียน การเรียนรู้ย่อมไม่มีวันเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้น การอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้และความร่วมมือกันของทุกคนจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ต้องกระทำควบคู่กันไป อันจะนำไปสู่โลกแห่งการเรียนรู้ยุคใหม่ซึ่งไม่มีที่สิ้นสุด การปรับเปลี่ยนบทบาทของครูคือก้าวแรกแห่งการพัฒนาสู่ครูในยุคศตวรรษที่ 21 เป็นการจัดการเรียนรู้ที่ไปไกลกว่าการได้รับความรู้แบบง่ายๆไปสู่การเน้นพัฒนาทักษะและทัศนคติ  ทักษะการคิด ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะองค์การ ทัศนคติเชิงบวก ความเคารพตนเอง นวัตกรรม ความสร้างสรรค์ ทักษะการสื่อสาร ทักษะและค่านิยมทางเทคโนโลยี ความเชื่อมั่นตนเอง ความยืดหยุ่น การจูงใจตนเอง และความตระหนักในสภาพแวดล้อม และเหนืออื่นใดคือความสามารถใช้ความรู้อย่างสร้างสรรค์ (the ability to handle knowledge effectively in order to use it creatively) ถือเป็นทักษะที่สำคัญจำเป็นสำหรับการเป็นนักเรียนในศตวรรษที่ 21 ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายในการที่จะพัฒนาเรียนเพื่ออนาคตให้นักเรียนมีทักษะ ทัศนคติ ค่านิยม และบุคลิกภาพส่วนบุคคล เพื่อเผชิญกับอนาคตด้วยภาพในทางบวก (optimism) ที่มีทั้งความสำเร็จและมีความสุข ดังนั้น เพื่อให้นักเรียนเป็นนักเรียนในยุคใหม่ ครูจึงต้องมีเทคนิคการสอนที่สามารถเร้าความสนใจแก่นักเรียน โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการสอน อย่างที่นิยมใช้ในปัจจุบัน คือ Google Apps for Education


Google Apps for Education หรือ Google Apps สําหรับการศึกษา คือ ชุดของฟรีอีเมล์จาก Google และเครื่องมือต่าง ๆ เป็นระบบเปิดในการทำงานร่วมกัน เปิดกว้างสำหรับคุณครู นักเรียน นักศึกษา ชั้นเรียนและสมาชิกครอบครัวในโลก ตัวอย่างเครื่องมือที่นิยมใช้รู้จักกันดี เช่น อีเมล์ (E-mail),เอกสาร (Docs), ปฏิทิน (Calendar), และ Group เป็นต้น แต่เครื่องมือเหล่านี้จะใช้สำหรับในการศึกษา เป็นโปรแกรม ที่ Google พัฒนาให้แก่โรงเรียนใช้งาน เพื่อสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีต่อการเรียนการสอนและการนำอินเทอร์เน็ตไปใช้ในเชิงสร้างสรรค์ โดยโปรแกรมประกอบไปด้วย Communication : โปรแกรมสื่อสาร ภายในและภายนอกโรงเรียน Collaboration : โปรแกรมออฟฟิศสำหรับการแชร์และทำงานร่วมกันออนไลน์  Content : โปรแกรมสร้างเว็บไซต์และเนื้อหาออนไลน์  (ที่มา : http://thinkoutloudclub.com/wp- content/uploads/2014/02/google_apps_landscape.png) การใช้  Google Apps for Education มีเทคนิคดังนี้   1.)  Gmail เป็นการให้บริการอีเมล์ของ Google ถูกพัฒนาขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ 2006 ในปัจจุบันได้ใช้ฟรีและมีพื้นที่การใช้งานที่เยอะมาก สามารถทำงานได้ทั้งบนเว็บไซต์ http://gmail.com และบนเครื่อง PC โดยใช้โปรแกรม Mail Client เช่น Outlook,Tunderbird เป็นต้น  โดยทุกโปรแกรมของ Google ต้องมี gmail ในการสมัครใช้ 2.) Google Calendar เป็นโปรแกรม Calendar ออนไลน์ทำงานบนเว็บไซต์โดยผู้ใช้งานสามารถสร้างตารางงาน หรือตารางนัดหมายงานของตัวเองได้  ครูผู้สอนสามารถกำหนดตารางงานของตนเองลงบน Google Calendar เพื่อความสะดวกและง่ายต่อการทำงาน 3.) Google Docs เป็นที่ได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน โดยให้บริการด้านเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ สามารถทำงานร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นระหว่าง อาจารย์กับอาจารย์ หรืออาจารย์กับนักศึกษา สามารถแบ่งปันใช้เอกสารออนไลน์ร่วมกันได้ทุกที่ทุกเวลาและทุกโอกาส มีโปรแกรมตารางคำนวณอิเล็กทรอนิกส์ และโปรแกรมนำเสนอผลงาน การทำงานในระบบ ออนไลน์ที่ไม่ต้องมีการแนบไฟล์ 4.Google Talk เป็นโปรแกรมสำหรับใช้สนทนากันผ่านระบบเครือข่ายอิเทอร์เน็ต เหมือนกับโปรแกรม Yahoo,MSN  ทำให้ครูและนักเรียนใกล้ชิดกันมากขึ้น สามารถปรึกษากันได้อย่างรวดเร็ว 5.Google Site เป็นบริการสร้างหน้าเว็บไซต์ออนไลน์ ผู้ใช้งานสามารถสร้างเว็บไซต์ของตัวเองขึ้นมาใช้งานได้ ซึ่งจะมี Template ต่างๆให้เราได้เลือก การใช้งานก็เหมือนกับการสร้างเว็บบล็อกทั่วๆไป  ครูผู้สอนสามารถใช้ในการสร้างโครงการสอน แผนการสอน สอดแทรก รูปภาพ และวิดิโอ ประกอบการสอนทั้งหมดลงไปในเว็บไซต์นี้ได้ และให้นักเรียนศึกษา สืบค้นความรู้ด้วยตนเอง  6.) Google Plus หรือ Google+ เป็นเว็บเครือข่ายสังคมออนไลน์ของกูเกิล มีลักษณะการใช้งาน คล้ายกับ Facebook สามารถเชื่อมต่อไปยัง Gmail และ YouTube ได้ ขั้นตอนการใช้เทคโนโลยี Google Apps for Education ในการพัฒนานวัตกรรมการการเรียนการสอน Google plus เป็น Social Network คล้ายๆ กับ Facebook เป็นหนึ่งใน Application ที่ google พัฒนาขึ้นมาและสามารถตอบสนองระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนในเรื่องของการมีปฏิสัมพันธระหว่างกัน การพูดคุยโต้ตอบกัน รวมไปถึงการเรียนการสอนทางไกลผ่านเครือข่ายอินเทอรเน็ตได้เป็นอย่างดี จุดเด่นของ google plus ในการจัดการเรียนการสอน คือ มีส่วนสนทนา (Chat) สำหรับการโต้ตอบแบบทันทีทันใด ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน มีส่วนของแฮงค์เอาท์ (Hang out) ใช้สำหรับพูดคุยหรือสนทนา ผ่านภาพและเสียงระหว่างบุคคลที่อยู่ใน กลุ่มหรือแวดวงนั้นๆมีไทม์ไลน์ (Timeline) เป็นส่วนที่แสดงการอัพเดต (Update) ต่างๆของผู้สอนและผู้เรียนทำให้ทราบ ความเคลื่อนไหวต่างๆ ได้ทันท่วงที การจัดการเอกสารต่างๆ เช่น การสร้างเอกสาร การสร้างไฟล์นำเสนอ การสร้างตารางคำนวณ เป็นต้น สามารถทำได้แบบออนไลน์ เผยแพร่ได้ทันที ปัจจุบัน Google Apps for Education มีการพัฒนาก้าวหน้า และมีแอพพลิเคชั่นมากมายหลายชนิด ให้ผู้ใช้ได้ติดตั้งบน Web browser เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งาน รวมถึงการพัฒนาแอพพลิเคชั่น สำหรับ Mobile Phone และ Tablet เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา มีการสื่อสารระหว่างผู้สอนและผู้เรียนได้ตลอดเวลาเช่นกัน
จากที่ได้กล่าวมา พิธาน โพธิ์รอด(http://darkspace0l0.blogspot.com/2012/06/google-apps.html) ได้กล่าวว่า ข้อดีของการใช้บริการ Google Apps นั้นน่าจะอยู่ที่ความสามารถในการทำงานร่วมกับโปรแกรมต่างๆได้อย่างลงตัว เช่นการใช้งาน Gmail ร่วมกับ Google Docs หรือ Google Calendar นอกจากนั้นผู้ใช้งานผู้ใช้งานยังสามารถใช้เครื่องมือต่างๆได้อย่างเต็มที่และยังมีฟังก์ชัน API (Application Programming Interface) ให้เราสร้างโปรแกรมเพื่อใช้ติดต่อกับ Google Apps ได้อีกด้วย ซึ่งโปรแกรมเหล่านี้ส่วนมากจะใช้ฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทำให้เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว นอกจากนี้ แอปพลิเคชั่นการส่งข้อความและการทำงานร่วมกันที่ทำงานแบบเว็บของ Google ไม่จำเป็นต้องใช้ฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ และต้องการการดูแลระบบน้อยที่สุด สร้างเวลาเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย และประหยัดค่าใช้จ่ายสำหรับธุรกิจ มีพื้นที่เก็บข้อมูลมากกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม 50 เท่า  และการเข้าถึงอีเมล ปฏิทิน และ IM บนโทรศัพท์มือถือก็รวดเร็วและถูกต้อง แต่ทุกสิ่งทุกอย่างนั้น เมื่อมีข้อดีย่อมมีข้อเสีย โดยข้อเสียของ Google Apps คือ การที่ครูหรือนักเรียนหมกมุ่นอยู่กับโลกอินเตอร์มากเกินไป อาจส่งผลเสียต่อตนเองได้ หากไม่จัดระบบความรับผิดชอบของตนเอง และการใช้งานด้านเทคโนโลยีมากเกินไป อาจทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน หรือเพื่อนกับเพื่อนอาจน้อยลง  หรืออาจมีกิจกรรมร่วมกับครอบครัวน้อยลง ส่งผลเสียต่อตนเองและครอบครัวได้  ครูจึงต้องสอนให้นักเรียนใช้ง่ายอย่างจำกัด แบ่งเวลาให้ถูกต้อง และต้องให้ความสำคัญกับการเรียนมากกว่าโลกโซเชียล จึงจะเกิดผลดีกับนักเรียนเอง
          ดังนั้นจะเห็นได้ว่า สังคมในยุคปัจจุบัน เป็นสังคมที่พัฒนาด้วยเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและการสื่อสาร การจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีการนำเครื่องมือหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในการจัดระบบการเรียนการสอนเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในหลายๆด้านไม่ว่าจะเป็นการสร้างปฏิสัมพันธระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การเรียนการสอนผ่านเครือข่าย อินเทอรเน็ตที่สามารถเข้าเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งจะเห็นว่าสังคมออนไลน์ ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการจัดการเรียนการสอน แต่ในบางครั้งสังคมออนไลน์ที่ครูผู้สอนใช้อยู่ในปัจจุบัน อาจจะยังตอบสนองความต้องการหรือปัญหาต่างๆ ได้ไม่มากนัก เครื่องมือที่น่าสนใจในการจัดการเรียนการสอนปัจจุบัน คือ Google Apps for Education ที่จัดได้ว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยตอบสนองปัญหาต่างๆ ของการเรียนการสอนในห้องเรียน ได้อย่างหลากหลาย และมีประสิทธิภาพอีกเครื่องมือหนึ่งในการจัดการเรียนการสอนของไทย ดังนั้นจะเห็นได้ ว่า Google Apps for Education สามารถตอบโจทย์การศึกษายุคใหม่ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้ชื่อว่าเป็นการสร้างตำนานแห่งโลกการศึกษายุคใหม่ เพราะได้ทำให้รูปแบบการจัดการเรียนการสอน การติดต่อสื่อสาร การมีปฏิสัมพันธ์ แปรเปลี่ยนไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง เด็กไทยจะก้าวเข้าสู่เด็กที่ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในศตวรรษที่ 21 และพัฒนาไปพร้อมๆกับการศึกษาที่มุ่งให้เป็นเด็กที่เก่ง ดี และมีความสุข อย่างยั่งยืนต่อไป


อ้างอิง  
-        พนม พงษ์ไพบูลย์. (2543). บันทึกปลัดกระทรวงศึกษาธิการ. วารสารข้าราชการครู, 20 (6), 6.
-          พิธาน โพธิ์รอด.(2555) http://darkspace0l0.blogspot.com/2012/06/google-apps.html 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น